วัดพนัญเชิง หรือที่เรียกกันว่า วัดหลวงพ่อโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา

วัดไทยใกล้กรุง @อยุธยา

วัดพนัญเชิง หรือที่เรียกกันว่า วัดหลวงพ่อโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา

อีกหนึ่งวัดที่ขึ้นชื่อขออยุธยา หากพูดถึงสายบุญ สายมูแล้ว แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักวัดนี้กันเลยทีเดียว หลายๆเพจ หลายๆ blog ก็น่าจะมีรีวิวให้ดูเยอะแยะแล้วสินะคะ  แต่วันนี้ เราก็จะมาอัพเดทวันนี้กันให้อีกครั้ง เพราะได้ไปขอพรช่วงโควิดมา แบบคิดว่าช่วงนี้น่าจะเที่ยวได้ไหว้พระแบบสบายๆ คนไม่เยอะ ไปครึงวันช่วงบ่ายก็ไม่ร้อนด้วย โดยเฉพาะการเข้ามาสักการะขอพรหลวงพ่อโตนั่น  ซึ่งนอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยแล้ว ชาวจีนก็นิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพรท่านด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิที่ถ้าใครได้มาที่นี่แล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะได้เข้าไปสักการะ นั่นก็คือ ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากผู้ที่ศรัทธานิยมมาขอพรท่านเรื่องความรัก การงาน และขอบุตร และรูปปั้นเหล่าทวยเทพสายจีนทั้งหลาย ต้องได้มาขอเฮงกันที่นี่อย่างครบกันเลยทีเดียว

 

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา มีชื่อเสียงระบือไปทั่วประเทศโดยเฉพาะหลวงพ่อโตหรือเจ้าพ่อซำปอกงที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างให้ความเคารพนับถือมาช้านาน เมื่อมายังวัดแห่งนี้จะไม่แปลกที่จะต้องพบเจอผู้คนจำนวนมากที่ไหลเวียนมานมัสการหลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น
ประวัติ วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี 

หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก

หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลายพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔.๒๐ เมตร สูง ๑๙.๒๐ เมตร วัสดุ ปูนปั้นลงรักปิดทองหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือพระโตของชาวอยุธยาองค์นี้ ถือกันว่าเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๘ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปีและเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตกปรากฏในคำให้การขาวกรุงเก่าว่าพระปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหลเป็นที่อัศจรรย์ หลวงพ่อโตเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมากโดยเรียกกันว่า ซำปอกง นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมากและเป็นประจำทุกปี

พระพุทธรูปทองคำในพระอุโบสถ ในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาค พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยทำจาทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก มีสีทองอร่ามใสเป็นเงาสะท้อนอย่างชัดเจน องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาหน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 5 ศอก ส่วนพระพุทธรูปนาคเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้นจะมีสีออกแดงๆหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 5 ศอก กล่าวกันว่าพระพุทธรูปทองและนาคนี้เพิ่งถูกพบว่าเป็นพระทองและพระนาค ด้วยบังเอิญ เนื่องจากแต่เดิมทีพระทั้งสององค์ถูกฉาบ เคลือบด้วยปูน จนมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปปูนปั้นทั่วไป สาเหตุคงเพราะว่าช่วงเวลาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกข้าศึกบุกตีพระนคร คนในสมัยนั้นเกรงว่าพระพุทธรูปทองและพระพุทธรูปนาคนี้จะถูกขโมยหรือเผาเอาทองไปจึงได้ฉาบปูนเคลือบและปั้นปูนในขณะที่ปูนยังไม่แห้งเพื่อทำเป็นลายจีวรและลักษณะต่างๆเช่น ปั้นรูปพระพักตร์ พระเกศา เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่พระทองคำและพระนาค จนกระทั่งในภายหลังมีผู้ไปค้นพบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำเนื่องจากเศษปูนได้กะเทาะออกมาและเนื้อภายในเป็นทอง จึงได้ค่อยๆกะเทาะปูนออกให้หมด จึงได้เห็นว่าเป็นพระทองคำทั้งองค์และนำมาประดิษฐานอยู่ภายพระอุโบสถของวัด

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก อนุสรณ์แห่งความรัก หรือ “ศาลเจ้าแม่แอเนี้ย” 

หลังจากได้สักการะขอพรจากหลวงพ่อโตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะมาขอพรเรื่องความรักนั่นเอง ซึ่งหลายๆคนหากได้ฟังตำนานของพระนางสร้อยดอกหมากอนุสรณ์แห่งความรักกับเจ้าชายสายน้ำผึ้งที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมในยุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เชื่อว่าหลายๆคนที่เคยได้ยินเรื่องเล่านี้จะต้องมาขอพรแห่งความรัก ณ ที่แห่งนี้จำนวนไม่น้อย

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน2 ชั้น ตกแต่งลวดลายปูนปั้นสวยงาม ชั้นล่างเป็นเจ้าที่ เมื่อได้เดินเข้าไปภายในศาลชั้นล่างก็จะเป็นที่จุดธูปเทียน แต่หากท่านไหนมีเวลา สามารถเดินขึ้นไปยัง ชั้น2 ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งนับถือกันว่าเป็นตัวแทนรูปเคารพของพระนางสร้อยดอกหมาก มักมีผู้คนมาขอพรเรื่องความรัก คู่ครองและการมีบุตร เมื่อสมความปรารถนาแล้วมักนำผ้าแพร ไข่มุก เรือสำเภาจำลองหรือเชิดสิงโตถวาย ที่นี่ยังเก็บสมอเรือเก่าแก่ไว้อันหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นสมอเรือของพระนางสร้อยดอกหมาก  องค์เจ้าแม่ที่ต่างมีผู้คนเข้ามาสักการะขอพร และนำดอกไม้ผลไม้มาถวายเพื่อเป็นการขอบคุณ หรือแม้แต่แก้บน อย่างไม่ขาดสาย  ตัวศาลพระนางสร้อยดอกหมากนั้นเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปะจีน ป้ายหน้าศาลมีทั้งอักษรไทยและจีน เขียนว่า เปยเหนียง หากแปลแยกจะได้ความว่า หญิงสาวผู้โศกเศร้า แต่หากแปลรวมจะหมายถึง พระแม่ผู้เปี่ยมเมตตา นอกจากขอพรแล้ว ยังมีเซียมซี ไว้สำหรับใครที่ชอบการเสี่ยงทาย ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายดวงของตัวเอง หรือแม้แต่เสี่ยงเลขที่อยากได้ก็ห้ามพลาดเลยนะคะ     

คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

ตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก 

ตำนานรักอันแสนเศร้าเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ตำนานรักตำนานสร้างวัดของ…”เจ้าชายสายน้ำผึ้ง-แม่นางสร้อยดอกหมาก”
ตำนานรักเรื่อง “เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก” เป็นตำนานแห่งการสร้างวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา หรือวัดพระเจ้าแพนงเชิง หรือวัดพระนางเชิญ ก็มี เป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวไทยและจีน รวมถึงชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย ด้วยมีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้ได้สมปรารถนาดังที่ขอไว้ได้ทุกเรื่องทุกประการ
“ตั้งแต่อยู่วัดพนัญเชิงมา มีเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จของคนมาขอพรกับเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนับครั้งไม่ถ้วน ที่ยอดฮิตคือ การขอพรเรื่องความรัก และการขอบุตร มีบางคนนำชุดแต่งงานมาถวาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกประคำ รวมทั้งทองคำ” นี่เป็นคำบอกเล่าของพระเทพรัตนากร หรือเจ้าคุณแวว เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง
สำหรับสำนานรักเจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก เจ้าคุณแวว เล่าว่า โบราณนานมาแล้ว มีเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่ง เกิดอยู่ในจั่นหมากพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และได้ให้นามนางว่า “นางสร้อยดอกหมาก”
เมื่อนางสร้อยดอกหมากเจริญวัยขึ้น นางมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้ากรุงจีนทรงโปรดให้โหรทำนายว่าในกาลภายหน้า พระนางสร้อยดอกหมากจะคู่ควรกับกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูแล้วกล่าวว่า คู่ของนางจะเป็นกษัตริย์กรุงไทย อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นผู้มีบุญญาอภินิหารมากนัก พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังคำโหรทำนายดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทางด้านกรุงไทย ขณะนั้นกำลังว่างผู้ปกครองแผ่นดินและไม่มีรัชทายาทจะสืบราชสมบัติ ต่อมาบรรดาเสนาอำมาตย์และสมณชีพราหมณ์ จึงทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อเรือแล่นไปถึงยังที่แห่งหนึ่งที่ริมฝั่ง มีเด็กเลี้ยงโคกำลังเล่นกันอยู่ เรือสุวรรณหงส์เอกชัยจอดหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนอีกต่อไป แม้เหล่าฝีพายจะพยายามสักเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนที่ เหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดสังหรณ์ใจ จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคที่กำลังเล่นกันอยู่ พบเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาดพูดจาตอบโต้ฉาดฉาน เหล่าอำมาตย์ต่างก็คิดว่า “ชะรอยเด็กคนนี้คงเป็นผู้มีบุญ กิริยาท่าทางจึงต่างกับเด็กคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด แม้การเจรจากับเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ฉลาดหลักแหลม” เมื่อคิดดังนั้นแล้วเหล่าอำมาตย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเด็กชายคนนั้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงไทยต่อไป
เมื่อพระเจ้ากรุงไทยพระองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองบ้านเมืองเป็นปกติสุข ครั้งหนึ่งพระองค์โปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี เมื่อเสด็จมาถึงยังหัวแหลมวัดปากคลอง เป็นเวลาน้ำขึ้น จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบันของโบสถ์จึงทรงดำริว่า “จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด”
หลังตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร โดยเปลื้องพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือประทับพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีต่างก็พากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้ากรุงไทยว่า “ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง”
ครั้นถึงเวลาน้ำลง พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงมีรับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งเอกชัยเพียงลำเดียว เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งราชกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย จนกระทั่งลุถึงกรุงจีน ชาวจีนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงนำความขึ้นทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก
พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปสืบดูว่าพระเจ้ากรุงไทยมีบุญญาธิการจริงหรือไม่ เสนาบดีจีนออกไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค ซึ่งเป็นที่ที่มีภยันตรายมาก ตกเพลาค่ำเสนาบดีจีนใช้ทหารไปสอดแนมดูว่า “เหตุการณ์ร้ายแรงอันใดจะเกิดขึ้นหรือไม่” มีแต่เสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น ในคืนต่อมาเสนาบดีจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่มีอันตรายมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์ยังเหมือนคืนก่อนเมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง
เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนให้นำสำเภาห้าลำพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก เมื่อถึงปากน้ำพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน เมื่อจัดตำหนักซ้ายขวาเสร็จก็จัดขบวนมารับพระนางสร้อยดอกหมากจากเรือ โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า “มาด้วยพระองค์ก็โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป”
เสนาบดีนำเนื้อความไปกราบทูลพระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่นจึงกล่าวสัพยอกว่า “เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด” เมื่อพระนางทราบเนื้อความจึงสำคัญว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจริง จึงน้อยพระทัยและเศร้าพระทัยยิ่งนัก ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งจัดกระบวนแห่มารับ และเสด็จมาด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นไปบนสำเภา พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์
พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เอาล่ะ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น ด้วยความน้อยพระทัยนางจึงกลั้นพระทัยตายทันที พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยมาก โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาพระราชทานเพลิง ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย จึงทรงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระนางเชิญ” แต่นั้นมา
งานวันเกิดเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก คู่ครอง และการขอบุตรจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เมื่อได้สมหวังดังที่ขอ บ้างก็มีการบนบานสานกล่าวด้วยผ้าแพร ไข่มุก เรือสำเภา หรือนำสิงโตมาเชิด ก็มีการบอกต่อหรือเล่าขานต่อๆ กันมา จนเป็นความเชื่อ โดยถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีคือ เมื่อมานมัสการองค์หลวงพ่อโตในพระวิหารเสร็จจะต้องแวะมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วย
ส่วนการจัดงานประจำปีเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เจ้าคุณแววบอกว่า เดิมทีนั้นไม่มีกำหนดวันแน่นอน จะจัดอยู่ ๒ วัน คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เช่นเดียวกับหลวงพ่อโต จะมีกำหนดงานการจัดวัน ๔ วัน คือ วันที่ ๙ วันที่ ๑๐ วันที่ ๑๑ หรือวันที่ ๑๒ เดือนเมษายน ทั้งนี้ กำหนดงานจะเป็นไปตามวันว่างของคณะงิ้ว จึงเรียกคณะกรรมการวัดมาประชุมเพื่อกำหนดวันงานทุกๆ ปี ที่แน่นอน โดยพิจารณาว่าในอดีตที่ผ่านมาเลือกวันใดจัดงานมากที่สุด
ในที่สุดก็มีข้อสรุปว่า งานสมโภชหลวงพ่อโต (งานวันเกิด) จัดวันที่ ๑๑ เมษายน มีการนิมนต์พระมาทำบุญไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ รูป ส่วนวันงานสมโภชเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก (งานวันเกิด) จัดวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง มีการนิมนต์พระมาทำบุญไม่ต่ำกว่า ๔-๕๐๐ รูป
@HistoryKrungsriAyutthaya

ศาลาแห่งทวยเทพศาสตร์แห่งจีน มหาเฮง ปังๆรวยๆ

และที่ห้ามพลาดอีกหนึ่งจุดนั่นก็คือ รูปปั้นเหล่าทวยเทพสายจีนทั้งหลาย ต้องได้มาขอเฮงกันที่นี่อย่างครบกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น องค์เจ้าแม่กวนอิมพันมือ เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าอุ้ยท้อเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะ และอีกมากมาย เรียกได้ว่ามาที่นี่ ขอจบครบในที่เดียวกันเลยค้าาาา 

 

แผนที่วัดพนัญเชิง